ภูมิปัญญาท้องถิ่นของจังหวัดอุบลราชธานี

ภูมิปัญญาท้องถิ่นของจังหวัดอุบลราชธานี


ผ้ากาบบัว ความภาคภูมิใจของชาวอุบลราชธานี

ฝ้ายเส้นพุ่งเกลียวหางกระรอกผ้ากาบบัว เป็นชื่อผ้าที่ถูกกล่าวถึงในวรรณกรรมโบราณอีสานหลายเรื่อง คำว่า "กาบ" ในภาษาอีสานมีความหมายถึง เปลือกหุ้มชั้นนอกของต้นไม้บางชนิด เช่น เปลือกหุ้มต้นกล้วย เรียก กาบกล้วย หุ้มไม้ไผ่ เรียก กาบลาง กลีบหุ้มดอกบัว เรียก กาบบัว (สารานุกรมภาษาอีสาน-ไทย-อังกฤษ : ปรีชา พิณทอง) ผ้ากาบบัวอาจจะทอด้วยไหมหรือฝ้าย โดยมีเส้นยืน (Warh) ย้อมอย่างน้อยสองสีเป็นริ้ว ตามลักษณะ "ซิ่นทิว" ซึ่งมีความนิยมแพร่หลายแถบอุบลฯ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เส้นพุ่ง (Weft) จะเป็นไหมสีมับไม (ไหมปั่นเกลียวหางกระรอก) มัดหมี่และขิด

ผ้าฝ้ายกาบบัว  
จังหวัดอุบลราชธานี มีชื่อเสียงในด้านการทอผ้าพื้นเมืองมาช้านาน เห็นได้จากวรรรกรรมโบราณอีสานและประวัติศาสตร์ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับจังหวัดอุบลราชธานี ได้ปรากฏให้เห็นเด่นชัดถึงความประณีตสวยงาม แสดงออกถึงภูมิปัญญาของผู้ทอผ้าที่ได้รังสรรค์บรรจงด้วยจิตวิญญาณ ออกมาเป็นลวดลายอันวิจิตร สืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน
ปัจจุบัน ผ้ากาบบัว ได้รับการสืบสานให้เป็นผ้าเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของจังหวัดอุบลราชธานี เป็นที่นิยมในวงการแฟชั่นผ้าไทย มีการสวมใส่เสื้อผ้าอาภรณ์ลายกาบบัวตั้งแต่ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ไปจนถึงวัยรุ่นด้วยรูปแบบที่หลากหลาย

"ผ้ากาบบัว" ในหน้าประวัติศาสตร์

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 แห่งราชวงศ์จักรี พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ข้าหลวงต่างพระองค์สำเร็จราชการมณฑลลาวกาว ได้นำผ้าทอเมืองอุบลฯ ทูลเกล้าถวาย ซึ่งปรากฏในพระราชหัตถเลขาตอบเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ ร.ศ.114 ที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติ ความว่า
"ถึง สรรพสิทธิ ด้วยได้รับหนังสือลงวันที่ 13 มกราคม ส่งผ้าเยียรบับลาวมาให้นั้นได้รับแล้ว
          ผ้านี้ทอดีมากเชียงใหม่สู้ไม่ได้เลย ถ้าจะยุให้ทำมาขายคงจะมีผู้ซื้อ ฉันจะรับเป็นนายหน้า ส่วนที่ส่งมาจะให้ตัดเสื้อ ถ้ามีเวลาจะถ่ายรูปให้ดู แต่อย่าตั้งใจคอยเพราะจะถ่ายเมื่อใดบอกไม่ได้
จุฬาลงกรณ์ ปร.
จากการค้นคว้าถึงตำนานผ้าเยียรบับนี้พบว่า เป็นผ้าลายกาบบัวคำ ทอด้วยเทคนิคขิดหรือยกด้วยไหมคำ (ดิ้นทอง) แทรกด้วยไหมมัดหมี่ ใช้เทคนิคการจกหรือเกาะด้วยไหมสีต่างๆ ลงบนผืนผ้าในเวลาต่อมาอีก 55 ปีถัดจากนั้น เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2493 ชาวอุบลราชธานีได้ร่วมใจกันทอ ผ้าซิ่นไหมเงิน ยกดอกลายพิกุล ทูลเกล้าฯ ถวายเนื่องในพระราชพิธีราชาภิเษกสมรส พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช กับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร และถัดจากนั้นอีก 5 ปีต่อมา ในวโรกาสเสด็จฯ เยี่ยมพสกนิกรชาวอุบลราชธานีเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2498 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้ทรงฉลองพระองค์ด้วยผ้าซิ่นไหมเงิน ที่ชาวอุบลราชธานีทูลเกล้าฯ ถวาย และมีพระกระแสรับสั่งกับเหล่าผู้เฝ้ารับเสด็จฯ ที่บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี ว่า "ชาวอุบลฯ เขาให้ผ้าซิ่นนี้เป็นของขวัญวันอภิเษกสมรส เมื่อมาเยี่ยมอุบลฯ จึงนำมานุ่งให้คนอุบลฯ เขาดู" ยังความปลาบปลื้มปิติเป็นล้นพ้นของชาวอุบลราชธานีทั้งมวล

"ผ้ากาบบัว" ผ้าเอกลักษณ์ของเมืองอุบล"
โครงการสืบสานผ้าไทยสายใยเมืองอุบลราชธานี ได้เกิดขึ้น เพื่อธำรงไว้ซึ่งความเป็นเอกลักษณ์วัฒนธรรมอันล้ำค่าของเมืองอุบลราชธานี โดย นายศิวะ แสงมณี ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี (ในสมัยนั้น) ได้มอบหมายให้คณะทำงานพิจารณาฟื้นฟูลายผ้าพื้นเมืองในอดีตที่สวยงาม จนได้ลายผ้ามีลักษณะเป็นเอกลักษณ์ชื่อว่า ผ้ากาบบัว พร้อมกับมีประกาศจังหวัดให้ผ้ากาบบัวเป็นลายผ้าเอกลักษณ์ประจำจังหวัด เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2543 [ คลิกดูประกาศ ]
ผ้ากาบบัวจก
ผ้ากาบบัวอาจทอด้วยฝ้าย หรือไหม ประกอบด้วยเส้นยืนย้อมอย่างน้อยสองสีเป็นริ้วตามลักษณะ "ซิ่นทิว" ซึ่งมีความนิยมแพร่หลายแถบอุบลราชธานี ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ยังทอพุ่งด้วยไหมสีมับไม (ไหมปั่นเกลียวหางกระรอก) มัดหมี่ และขิด
ผ้ากาบบัว (จก) คือผ้าพื้นทิว หรือผ้ากาบบัวเพิ่มการจกลาย เป็นลวดลายกระจุกดาว (บางครั้งเรียก เกาะลายดาว) อาจจกเป็นบางส่วน หรือกระจายทั่วทั้งผืนผ้า เพื่อสืบทอด "ซิ่นหัวจกดาว" อันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของผ้าซิ่นเมืองอุบล ผ้ากาบบัว (จก) นี้เหมาะที่จะใช้งานในพิธีหรือโอกาสสำคัญ

ผ้ากาบบัวคำผ้ากาบบัวคำ
ผ้ากาบบัว (คำ) คือ ผ้าทอยก (บางครั้งเรียก ขิด) ด้วยไหมคำ (ดิ้นทอง) อาจสอดแทรกด้วยไหมเงิน หรือไหมสีต่างๆ อันเป็นผ้าที่ต้องใช้ความประณีตในการทออย่างสูง

   'เทียนหอม'เมืองดอกบัว


                                                 

'เทียนหอม' เมืองดอกบัว ... ฝีมือคนป่าก่อ-สู่ตลาดโลก : โดย ... นิลา สิงห์คีรี

          คนไปเมืองอุบลราชธานี จังหวัดชายแดนไทย-ลาว ตะวันออกสุดของสยาม คงไม่มีใครไม่นึกถึงเทียน เพราะเมืองแห่งนี้ได้ชื่อเป็นเมืองแห่งเทียนพรรษา ที่มีประเพณีแห่เทียนอันยิ่งใหญ่ตระการตา อีกทั้งยังมี "เทียนหอม" สินค้าโอท็อป 4 ดาว ที่มียอดส่งออกไปต่างประเทศเกือบ 40 ประเทศ ปีละเกือบ 10 ล้านบาทเลยทีเดียว 
          จากแนวคิดของ ชาลิดา พูลทรัพย์ ผู้ซึ่งจาก อ.เดชอุดม จ.อุบลราชธานี ไปเรียนที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และทำงานกับบริษัทส่งออกที่นั่น ก่อนหันหน้ากลับบ้านปี 2543 โดยเอาความรู้เรื่องการส่งออกหวังจะส่งสินค้าสักชิ้นไปต่างประเทศ เลยคิดได้ว่าอุบลราชธานีมีชื่อเสียงเรื่องเทียน แต่ไม่มีผลิตภัณฑ์ที่ทำจากเทียนส่งไปขายเมืองนอกเลย
          ด้วยความชอบเทียนหอม เมื่อพอมีประสบการณ์ทำเทียนหอมอยู่บ้าง เลยทำให้มุ่งมั่นผลิตเทียนหอมเพื่อส่งออกด้วยความแปลกทั้งสีสัน ทำเป็นรูปดอกไม้ จัดเป็นช่อ มีกลิ่นหอม จุดให้แสงสว่างได้ กลายเป็นจุดเด่นที่ต่างประเทศให้ความสนใจกระทั่งไม่สามารถผลิตป้อนตลาดได้พอ เพราะชาลิดาอาศัยในครอบครัว 2-3 คน ผลิตตามยอดสั่งซื้อที่เป็น 100 ชิ้น ชาลิดาจึงชักชวนเพื่อนบ้าน บ้านป่าก่อ ต.เมืองเดช อ.เดชอุดม จ.อุบลราชธานี ช่วยกันทำ 
          โดยแรกๆ ชาลิดาบอกว่า หนักใจมาก เพราะชาวบ้านไม่ได้มีพื้นฐานการทำมาก่อน ที่สำคัญเป็นงานฝีมือที่ต้องอาศัยความประณีต ใจเย็น ท้ายที่สุดหลังจากฝึกฝนและอบรมเพื่อนบ้านจนทำได้ และมีรายได้เข้ามาอย่างต่อเนื่อง 10 ปีผ่านไปจนถึงวันนี้มีสมาชิกในหมู่บ้านสนใจและตั้งกลุ่มเป็นกลุ่มเทียนหอมเดชอุดม สมาชิกกว่า 100 คน โดยตั้งอยู่ที่ 209/2 ถ.สนามม้า ต.เมืองเดช อ.เดชอุดม จ.อุบลราชธานี 
          "ตอนนี้มีออเดอร์เข้ามาเยอะมาก ตลาดหลักอยู่ที่ยุโรปและอเมริกา แต่ละปีมียอดสั่งซื้อ 7-8 ล้านบาท โดยแต่ละวันจะต้องส่งเทียนหอมค่อนข้างเยอะ แรกๆ เน้นผลิตส่งออกเมืองนอกเป็นหลัก ต่อมาเมื่อจังหวัดเข้ามาส่งเสริมให้ผลิตเป็นสินค้าโอท็อป จึงนำไปจำหน่ายในประเทศบ้าง ตลาดหลักอยู่ที่กรุงเทพฯ เพราะดีไซน์และรูปแบบ เป็นที่นิยมในเมืองหลวงเป็นหลัก" ชาลิดาบอกถึงผลิตภัณฑ์ที่ทำจนสร้างรายได้ให้ครอบครัวและสมาชิกในกลุ่ม โดยมีชาลิดาเป็นประธาน 
          โดยที่ผ่านมานั้นเทียนหอมได้รับการการันตรีระดับจังหวัด โดยเป็นสินค้าโอท็อประดับ 4 ดาวปี 2546 จากการคัดสรรสุดยอดโอท็อป โปรดัก แชมเปี้ยน และได้เป็นสินค้าโอท็อปพรีเมียมของกรมส่งเสริมการส่งออกกระทรวงพาณิชย์ และใบรับรอง มผช.จากกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม
          ส่วนการทำนั้น ชาลิดาบอกไม่ได้ยุ่งยากอะไร แค่ออกแบบต้องสมดุลสอดคล้องและมีความหมาย ถ่ายทอดความหมายได้ และต้องมีความตั้งใจโดยเฉพาะการเข้ากลีบดอกไม้ เพราะถ้าไม่สมดุลแล้วเมื่อนำดอกไม้ไปลอยน้ำแล้วจะทำให้การลอยน้ำไม่ตรง ดอกกุหลาบจะเอียงไปด้านใดด้านหนึ่ง และไม่สามารถอยู่บนน้ำได้ 
          "ตอนนี้สินค้าได้รับการตอบรับได้ดี ทำให้มีคนทำเลียนแบบมาก ถึงแม้จะสามารถทำได้เหมือน แต่ก็ต่างกันในเรื่องความประณีต สวยงาม อย่างไรก็ตาม ถือว่าทำให้คนเข้าใจผิดได้และอาจซื้อสินค้าไม่ได้คุณภาพไป โดยเฉพาะตลาดในประเทศ แต่ถ้าหากเป็นตลาดต่างประเทศไม่มีปัญหา เพราะเขาสั่งตรงจากเราอยู่แล้ว" ชาลิดา บอก
          ส่วนสนนราคาแม้จะสวยแบบนี้ ทว่าราคาไม่ได้แพงอย่างที่คิด เพราะเริ่มตั้งแต่ชิ้นละ 30 บาท ชิ้นใหญ่ตั้งแต่ 300-1,000 บาท ผู้สนใจจะไปชมและซื้อผลิตภัณฑ์เทียนหอมได้ที่ 209/2 ถ.สนามม้า ต.เมืองเดช อ.เดชอุดม จ.อุบลราชธานี โทรศัพท์ 0-4536-1712 และ 08-1760-1426


เทียนหอมเดชอุดม
          ส่วนผสม 1. พาราฟินแวกซ์ (Paraffin Wax) 2. โพลีเอททีลีนแวกซ์ (พี.อี.แวกซ์) ช่วยทำให้เทียนจุดติดได้นานขึ้น 3. ไมโครแวกซ์ (Micro Wax) แผ่นเทียน เนื้อนิ่ม 4. น้ำมันหอม (Scentsoi) 5.สีผสมเทียน 6. ยู.วี.71 (U.V.Absorber71) เป็นผงสีขาวใช้ใส่ในเนื้อเทียนทำให้สีเทียนไม่ซีด 7. ไส้เทียนทำจากฝ้าย 100%   
          วิธีทำ เริ่มจาก 1.นำส่วนผสมทุกอย่างยกเว้นไส้เทียนลงต้มไฟอ่อนๆ เมื่อทุกอย่างละลาย เทลงถาด ความหนา1/3 ซม.
          2.เมื่อเทียนเริ่มแข็งใช้บล็อกเหล็กกดกลีบเป็นรูปทรงตามบล็อกที่ต้องการ แล้วนำแผ่นเทียนขึ้นซับให้แห้ง 
          3.เริ่มขึ้นดอกด้วยปั้นตัวตุ้มเป็นรูปหยดน้ำ วิธีการคือนำไส้เทียนที่มีขนาด 3 นิ้ว มาห่อด้วยแผ่นกลีบที่บล็อกทำไว้ การจะนำแผ่นกลีบมาปั้นหรือดัดทุกครั้ง ต้องนำลงชุบในน้ำเทียนที่ต้มไว้เพื่อแผ่นเทียนจะได้อ่อนตัวแล้วดัดง่าย 
          4.เมื่อทำตุ้มเสร็จเริ่มเข้ากลีบรูปทรงต่างๆ จนได้ตามที่ต้องการ 
          5.บรรจุลงในบรรจุภัณฑ์ที่เตรียมไว้ เช่น กะลามะพร้าว ไม้แกะสลักเรือ กระติบข้าว เชือกฝั้นจากต้นกก และอื่นๆ 
          6.บรรจุหีบห่อสวยงาม เสร็จเรียบร้อย


ความคิดเห็น

  1. Lucky 20 slot machine - JS Hub
    Lucky 20 slot machine. This page can 제주도 출장마사지 be found in your browser. For 김제 출장마사지 more 대구광역 출장안마 information, please contact the 여주 출장샵 developer 경상북도 출장샵 and see the latest Feb 15, 2021 · Uploaded by SlotCatalog

    ตอบลบ

แสดงความคิดเห็น